ความเป็นมาและลักษณะของธรรมาภิบาล (Good Governance)
การบริหารจัดการที่ดีในภาครัฐ ( Good Governance) หรือบางทีเรียกกันว่าธรรมาภิบาลนั้น จะช่วยกระตุ้นอย่างมากต่อการพัฒนาและขยายตัวของจริยธรรมในทางธุรกิจ ทั้งนี้เพราะความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนมีอยู่อย่างใกล้ชิด ภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมกติกาการดำเนินงานของเอกชนย่อมมีผลต่อการเสริสร้างการบริหารจัดการที่ดีในวงการธุรกิจและการยึดมั่นในหลักคุณธรรมและจริยธรรมรวมทั้งความรับผิดชอบที่ธุรกิจมีต่อสังคม ถ้าการควบคุมย่อหย่อนหรือหน่วยงานในภาครัฐมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการทุจริตหรือการเอารัดเอาเปรียบสังคมและผู้บริโภคของธุรกิจเอกชนหรือมีการร่วมมือกันระหว่างคนในภาครัฐกับใตภาคเอกชนเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมีชอบแล้ว จะเป็นอุปสรรคซึ่งทำให้การเสริมสร้างจริยธรรมในการทำธุรกิจเป็นไปได้ลำบาก
ความหมายของธรรมาภิบาล
ธรรมาภิบาล มาจากคำว่า ธรรม และคำว่า อภิบาล ซึ่งคำว่า “ธรรม” หมายถึง คุณ ความดี ความถูกต้อง และหลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา กฎเกณฑ์ ความจริง ความยุติธรรม ส่วนคำว่า “อภิบาล” หมายถึง บำรุง รักษา ปกครอง ดังนั้น เมื่อนำมารวมกัน
ธรรมาภิบาลจึงน่าจะหมายถึง การปกครองและการบริหารบนพื้นฐานของหลักธรรม ความดี ความถูกต้อง ซึ่งสะท้อนถึงแนวความคิดปรัชญาที่เน้นเรื่องความดี ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Good Governance ซึ่งหมายความที่น่าจะสอดคล้อง และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปคือ ธรรมาภิบาล หมายถึง การบริหารโดยยึดหลักธรรมความดี ความถูกต้อง
ธรรมาภิบาล เป็นเรื่องของหลักการบริหารแนวใหม่ (Modern Management) เป็นหลักการทำงาน ซึ่งหากมีการนำมาใช้เพื่อการบริหารงานแล้ว จะเกิดความเชื่อมั่นว่าจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คือความเป็นธรรม ความสุจริต ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยวิธีดำเนินการเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลก็คือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความโปร่งใส มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ และสิ่งที่จะเอื้อให้เกิดการดำเนินการดังกล่าวได้ก็คือ การมีกฎระเบียบมีแนวปฏิบัติที่รองรับการดำเนินการ
ธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการตัดสินใจทางการบริหาร ซึ่งอาจถูกอิทธิพลครอบงำและอาจนำไปสู่การคอร์รัปชั่น การทุจริตเชิงนโยบาย (Policy Corruption) หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) หากกระบวนการตัดสินใจขาดหลักธรรมาภิบาล
ธรรมาภิบาล คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการการควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมที่ใช้ในการบริหารงานนี้ มีความหมายอย่างกว้าง กล่าวคือ หาได้มีความหมายเพียงหลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่รวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก เป็นต้น
ธรรมาภิบาล เป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุเพราะ ช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ อาทิ พนักงานต่างทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร ทำให้ผลประกอบการขององค์กรธุรกิจนั้นขยายตัว นอกจากนี้แล้วยังทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ศรัทธาและเชื่อมั่นในองค์กรนั้น ๆ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรที่โปร่งใส ย่อมได้รับความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ รัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชน ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เป็นต้น (http://th.wikipedia.org)
ธรรมาภิบาลได้มีการใช้อย่างกว้างขวางในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) เพื่อเป็นเงื่อนไขทางการเมืองในการให้เงินกู้ โดยประเพณีแล้วธนาคารทั้งสองถูกห้ามไม่ให้ใช้ปัจจัยทางการเมืองเป็นเงื่อนไขในการให้เงินกู้ ต่อมา ธนาคารโลกได้ยอมรับความจำเป็นของเงื่อนไขทางการเมือง โดยถือเอาธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นเงื่อนไขมากกว่าที่จะเอาประชาธิปไตย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความอ่อนไหวทางการเมือง โดยระบุว่า
ธรรมาภิบาลประกอบด้วยลักษณะ 4 ประการ คือ การบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบอธิบายได้ (Accountability) ความโปร่งใสและการมีกรอบกฎหมายสำหรับการพัฒนา ธนาคารโลกได้แยกธรรมาภิบาลออกจากประชาธิปไตย คือ จะเห็นจากการเน้นเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในระบอบการปกครองประชาธิปไตย เพราะวัตถุประสงค์ของธนาคารโลกเน้นเรื่องการพัฒนา อย่างไรก็ตามธนาคารโลกได้ถือว่าธรรมาภิบาลกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน เช่น ลักษณะหลายอย่างที่เป็นเรื่องของธรรมาภิบาล เช่น ความโปร่งใส ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบและการให้สาธารณชนตรวจสอบได้เป็นเงื่อนไขสำคัญของประชาธิปไตย และเป็นส่วนสำคัญของการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization)
องค์ประกอบของธรรมาภิบาล
ธรรมาภิบาล ประกอบด้วยหลักการต่างๆ ที่สำคัญ 6 หลักการ แล้วแต่ผู้ที่จะนำเรื่องของธรรมาภิบาลไปใช้ และจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากกว่ากันซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นหลักการสำคัญของธรรมาภิบาล คือ
1. หลักนิติธรรม (Rule of Law) คือการมีกฎหมายรวมถึงการมีกฎระเบียบที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
มีการบังคับใช้อย่างเสมอภาค และไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่มีมาตรฐานเชิงซ้อน (Double Standard) มีการดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ไม่ให้มีการนำกฎหมายไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีการปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับอารยประเทศ มีกรอบการปฏิบัติที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งกำหนดกรอบเวลาการปฏิบัติที่ชัดเจนให้ประชาชนทราบ
2. หลักคุณธรรม (Ethic) คือการไม่ทุจริต ไม่ประพฤติผิดวินัย ไม่กระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ รวมถึงการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่ปลอดการคอร์รัปชั่นหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง การไม่ละเมิดจริยธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติและกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาชีพต่างกันก็จะมีแนวปฏิบัติและจริยธรรมที่ต่างกัน
3. หลักความโปร่งใส (Transparency) คือการมีความโปร่งใสในการบริหารงานในทุกๆ ด้าน อาทิเช่น การมีการวางระบบงาน การกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจน เช่น การมีระบบคุณธรรมในการเลือกบุคลากร รวมถึงการให้คุณให้โทษ ฯลฯ เปิดโอกาสให้สังคมภายนอกเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ
4. หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน (Partici Pation) คือ กระบวนการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีโอกาสได้แสดงทัศนะและมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งมีการนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา กำหนดนโยบายและการตัดสินใจของรัฐ ประกอบด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน (ประชาพิจารณ์) การวางแผนร่วมกัน และการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
5. หลักจิตสำนึกและความรับผิดชอบ (Accountability) คือหลักการที่สำคัญที่องค์กรทั้งภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ ซึ่งจะสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบในการตัดสินใจซึ่งส่งผลกระทบต่อสาธารณะ จิตสำนึกและความรับผิดชอบจำเป็นต้องปฏิบัติโดยยึดหลักนิติธรรมและความโปร่งใส
6. หลักความคุ้มค่า (Value for Money) หรือหลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) คือการคำนึงประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ในการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน รวมทั้งมีการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม และมีความสามารถในการแข่งขันกับภายนอก