วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บัญชีเดินสะพัด

วันนี้มีความรู้เรื่องกฏหมายมาฝากค่ะ ว่าด้วยบัญชีเดินสะพัด มีหลายคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัด บทความนี้กล่าวถึงมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดค่ะ

ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

ลักษณะ ๑๙

บัญชีเดินสะพัด

มาตรา ๘๕๖ อันว่าบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

มาตรา ๘๕๗ การนำตั๋วเงินลงเป็นรายการในบัญชีเดินสะพัดนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ลงด้วยเงื่อนไขว่าจะมีผู้ชำระเงินตามตั๋วนั้น ถ้าตั๋วนั้นมิได้ชำระเงินไซร้ จะเพิกถอนรายการอันนั้นเสียก็ได้

มาตรา ๘๕๘ ถ้าคู่สัญญามิได้กำหนดกันไว้ว่าให้หักทอนบัญชีโดยระยะเวลาอย่างไรไซร้ ท่านให้ถือเอาเป็นกำหนดหกเดือน

มาตรา ๘๕๙ คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้

มาตรา ๘๖๐ เงินส่วนที่ผิดกันอยู่นั้นถ้ายังมิได้ชำระ ท่านให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่หักทอนบัญชีเสร็จเป็นต้นไป

(สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์, เผ่าพันธุ์ ชอบน้ำตาล, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)


หลัก (๑) อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น

(๒) คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง

(๓) ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

(๔) อันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และ

(๕) คงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลยภาค (มาตรา ๘๕๖)

สำคัญ (๑) เป็นสัญญาต่างตอบแทน

(๒) ไม่ต้องทำตามแบบ

(๓) ต้องมีบัญชีหนี้ระหว่างกันเป็นหลักฐาน

(๔) มีข้อตกลงให้ตัดทอนบัญชีกัน

(๕) ชำระหนี้ที่เหลือ

(๖) สัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะผลัดกันเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ บัญชีทั่วๆไป

มีเจ้าหนี้ฝ่ายหนึ่งและลูกหนี้ฝ่ายหนึ่ง

(สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่, เกร็ดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)